Q : มาตรการเยียวยาของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีอะไรบ้าง ?

A :

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เห็นถึงความยากลำบากในสถานการณ์ COVID-19 ของกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มเด็กยากจน กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไร้ที่พึ่ง นอกจากเบี้ยยังชีพ เงินอุดหนุน ที่ให้ตามปกติแล้ว หากอยู่ในพื้นที่ของ พม. ก็จะมีมาตรการคัดกรองและดูแลตามขั้นตอน

 

ทั้งนี้ พม. ได้มีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

1. กลุ่มเด็กยากจน

  • เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด (ได้ตามปกติ)
  • เพิ่มการสำรองนมสำหรับเด็ก ไว้ให้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว เพื่อช่วยเหลือเด็กอายุ 0 – 3 ปี
  • เปิดรับบริจาคจากผู้ต้องการช่วยเหลือ เช่น นมสำหรับเด็ก
  • ตั้งให้บ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน
  • เปิดบ้านพักให้แก่เยาวชนที่มีผู้ติดเชื้อในครอบครัวและไม่มีที่พึ่ง

2. กลุ่มคนพิการ

  • เบี้ยยังชีพคนพิการ เดือนละ 800 บาท (ได้ตามปกติ)
  • เงินช่วยเหลือคนละ 1,000 บาท (รับภายใน พ.ค. 63 และจ่ายเพียงครั้งเดียวผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) สำหรับผู้ที่มีบัตรคนพิการอยู่แล้ว
  • ในกรณีที่ผู้พิการมีฐานะยากจน กลุ่มคนพิการที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี และมีสวัสดิการแห่งรัฐ ปรับเบี้ยยังชีพคนพิการ จากเดิมเดือนละ 800 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท (รับตั้งแต่ 1 ต.ค. 63 เป็นต้นไป)
  • พักชำระหนี้กองทุนให้กู้ยืมคนพิการ เป็นเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 – มี.ค. 64
  • จัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมประกอบอาชีพ คนละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน (เริ่ม มิ.ย. 63)
  • สอนอาชีพสำหรับคนพิการแบบออนไลน์

3. กลุ่มผู้สูงอายุ

  • พักชำระหนี้กองทุนกู้ยืมผู้สูงอายุ เป็นเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 – มี.ค. 64
  • จัดที่พักสำหรับผู้สูงอายุจากสถานการณ์ COVID-19

4. กลุ่มคนไร้บ้านและกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง

  • พม. ร่วมกับมูลนิธิต่าง ๆ จะเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้ เช่น แจกหน้ากากผ้า
  • พม. จัดหาที่พักและอาหาร 3 มื้อ พร้อมทั้งดูแลด้านสุขภาพ ภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน

สำหรับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ สามารถสอบถามข้อมูลหรือร้องทุกข์ได้ผ่านสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 และสายด่วน 1300 ศูนย์ประชาบดี พม.

 

ข้อมูลโดย : คุณพัชรี อาระยะกุล รองปลัดและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์